31 สิงหาคม 2563
48
ตรวจแถว "น้ำดื่มผสมวิตามิน" เครื่องดื่มทางเลือกใหม่ที่กลายเป็นสนามแข่งขันร้อนระอุ ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 5,500 ล้านบาท และผู้เล่นหลากค่าย หลายกลุ่มทุน!
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บนเชลฟ์สินค้าในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าปลีกต่างๆ ในหมวดของน้ำเปล่าหรือน้ำวิตามิน เริ่มสังเกตเห็นผลิตภัณฑ์ “น้ำดื่มผสมวิตามิน” เข้ามาแทรกซึม แชร์ส่วนแบ่งพื้นที่อยู่ไม่น้อย
แบรนด์แรกๆ ที่น่าจะเห็นกันจนคุ้นตาไปแล้ว ก็คือ ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดของเครื่องดื่มประเภทนี้
หลังจากนั้นแบรนด์อื่นๆ ก็ตบเท้าตามเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ VITADAY (วิตอะเดย์) ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเครื่องดื่มอยู่แล้ว รวมถึงแบรนด์ PH Plus 8.5 (พีเฮช พลัส 8.5) ในเครืออิชิตัน กรุ๊ป และแบรนด์ B’lue (บูล) ยักษ์ธุรกิจเครื่องดื่มที่เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจนี้เช่นกัน
ปัจจุบัน คาดการณ์กันว่า ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามิน น้ำเปล่าใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นและผสมวิตามินเข้าไปนั้น ในปี 2563 อาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท และแนวโน้มการเติบโตก็ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
ข้อมูลของ Kantar Worldpanel มีการอธิบายถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในไทย พบว่า คนไทยมีแนวโน้มการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหวานน้อยและไม่หวานเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเป็น 5.1 ครั้งต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ราว 4.97 ครั้งต่อปี
ประกอบกับเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เครื่องดื่มหวานน้อยหรือไม่หวาน กลายเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ผลิตต่างๆ ในการออกผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทนมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว น้ำอัดลม เครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์สูง (Value)
ขอเริ่มจากเจ้าตลาด “น้ำดื่มผสมวิตามิน” และเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เข้ามาสู่ตลาดนี้ คือ “ยันฮี วิตามิน วอเตอร์” (Yanhee Vitamin Water) ดำเนินการภายใต้ บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเครือโรงพยาบาลยันฮี ของตระกูลสัมฤทธิวณิชชา โดยบริษัทนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2556 ด้วยทุนจดทะเบียนราว 150 ล้านบาท
ด้วยภาพลักษณ์ของกลุ่มธุรกิจทางด้านสุขภาพ จึงทำให้เกิดรากฐานของความเชื่อมั่นในแบรนด์ที่มุ่งเน้นในเรื่องของสุขภาพอยู่แล้ว โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในปี 2561 บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ มีรายได้รวม 35.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 395.77% จากเดิมที่มีรายได้อยู่ราว 7.09 ล้านบาท
ในช่วงแรก บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว คือ ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ น้ำดื่มจากดอกเก๊กฮวยสกัด ผสมวิตามินบี 3, บี 6, บี 12 และกรดโฟลิค และต่อมาขยายไลน์ธุรกิจเป็นอีกผลิตภัณฑ์คือ ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ เป็นเครื่องดื่มน้ำวิตามินซี 200% ผสมเฉาก๊วยสกัด โดยเน้นเรื่องการใส่ใจสุขภาพ ไม่มีน้ำตาล ไม่มีโซเดียม สร้างความสดชื่น
"เจษฎา อุดมถิรพันธุ์" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ระบุว่ายันฮีคือผู้นำตลาดในกลุ่มนี้ กำลังการผลิตอยู่ที่หลักหมื่นขวดต่อชั่วโมง ช่องทางการจำหน่ายทั้งในโรงพยาบาล ร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรด เพื่อหวังเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
“คาดการณ์ว่าอีก 3 ปีข้างหน้า มีโอกาสเติบโตแตะหมื่นล้านบาท รวมถึงหวังชิงสัดส่วนตลาด 30% ของตลาดน้ำดื่ม โดยทุกปียอดขายมีการเติบโตต่อเนื่องมากกว่าอัตรา 2 หลัก และในช่วงไตรมาส 2 แม้ตลาดเครื่องดื่มจะติบลบอยู่ราว 4% แต่บริษัทก็ยังคงเติบโตสวนกระแส”
อีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าสนใจคือ “PH Plus 8.5” (พีเฮช พลัส 8.5) น้องใหม่ในสนามน้ำดื่มผสมวิตามิน แต่อยู่ในแวดวงเครื่องดื่มมาอย่างยาวนาน เรื่องจากอยู่ภายใต้เครืออิชิตัน กรุ๊ป ของ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการน้ำชาเขียวบรรจุขวดพร้อมดื่ม ก็กระโดดเข้ามาร่วมกลุ่มสินค้านี้ด้วยเช่นกัน แตกไลน์เป็นน้ำดื่มอัลคาไลน์ ผสมวิตามินบีรวม
ซึ่งอิชิตัน ได้เปิดเผยในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า อิชิตันมุ่งมั่นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 และมีการศึกษาตลาดมาแล้ว จึงได้เปิดตัวน้ำดื่ม PH ผสมวิตามิน พร้อมกับสะท้อนภาพของตลาดน้ำแร่ทั่วโลก ว่ามีการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2562 น้ำแร่ไทยมีมูลค่าราว 4,765 ล้านบาท เติบโต 7-8% ขณะที่การบริโภครวม 311 ล้านลิตร
ทั้งนี้การเปิดตัวของน้ำดื่มน้องใหม่ “PH Plus 8.5” เพิ่งเริ่มขึ้นราวไตรมาส 2 ปี 2563 จึงยังไม่มีตัวเลขมูลค่ารายได้ แต่ตั้งเป้ายอดขายประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยหากมองภาพรวมรายได้ของอิชิตัน กรุ๊ป พบว่าปี 2562 มีรายได้รวม 5,401.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.26% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 401.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,636%
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริ้งก์ อย่าง บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสากรรมนี้เป็นอย่างดี สินค้าที่เป็นที่รู้จักคือ เซ็ปเป้ บิวตี ดริ้งค์ และเพรียว ซึ่งได้จับมือกับบริษัท ดานอน เอสเอ (Danone SA) บริษัทเครื่องดื่มระดับโลก สินค้าที่คุ้นตาคือ น้ำแร่เอเวียง ผลิตภัณฑ์นมแอคทีเวีย สินค้าโภชนาการดูเม็กซ์ ฯลฯ
ทั้งสองบริษัทได้จับมือเปิดตัวบริษัท ดาน่อน-เซ็ปเป้ เบฟเวอเรจส์ จำกัด ที่เพิ่งจดทะเบียนบริษัทเมื่อต้นปี 2562 ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย เป็นสิงคโปร์ 2 ราย 150 ล้านบาท และเป็นทุนไทย 1 ราย 50 ล้านบาท
โดยออกสินค้าตัวแรกคือ แบรนด์ B’lue (บลู) ซึ่งมีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ด้วยการเป็นน้ำดื่มที่มีรสชาติ ผสมวิตามิน เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 รสชาติ เพลย์ฟูลพีช โพสซิทีฟแพร์ เครซี่แคกตัส ลัคกี้ไลชี่ และคูลคาลาแมนชี่
“ฟลอริส เวสเซลลิ่ง” รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ดานอน วอเทอร์ส เล่าว่า ดานอนในห้ความสำคัญกับตลาดเครื่องดื่มมากกว่าน้ำมากขึ้น นอกจากเป็นพอร์ตโฟลิโอหลักที่สามารถทำเงินในปีก่อนราว 8.6-8.7 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 5% ประกอบกับเทรนด์การบริโภคสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพที่คนทั่วโลกตื่นตัว
ทั้งนี้การที่ดานอนกลับมาทำตลาดเชิงรุก เป้าหมายได้แค่เป็นการแจ้งเกิดบลู สร้างมูลค่าแบรนด์ให้แตะพันล้านบาทเท่านั้น แต่ต้องจะมีเครื่องดื่มนวัตกรรมอื่นมาเสริมทัพเพิ่มเติม ตั้งเป้ายอดขาย 3,500 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปี ทั้งนี้ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2562 บริษัท ดาน่อน-เซ็ปเป้ เบฟเวอเรจส์ จำกัด มีรายได้รวมทั้งหมด 186.59 ล้านบาท
ปิดท้ายด้วยแบรนด์ “VITADAY” (วิตอะเดย์) ภายใต้บริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2554 ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มี “พงศกร พงษ์ศักดิ์” เป็นหัวเรือใหญ่ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด สินค้าเรือธงที่ขายทั้งในประเทศและส่งออก คือ น้ำมะพร้าว แบรนด์ IF COCO (อีฟ โคโค่) มุ่งเน้นสินค้าเพื่อสุขภาพ
นอกจากนี้ยังแตกไลน์ธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ทั้งแบรนด์โกปี๊เตี่ยม เครื่องดื่มโอเลี้ยงผสมกระชายดำ และอีกหนึ่งแบรนด์ คือ VITADAY (วิตอะเดย์) ที่นอกจากผลิตและขายสินค้าน้ำวิตามินต่างๆ ทั้งวิตามินซีสูง 200% รสชาติเลมอนและรสชาติน้ำส้ม วิตามินเอ 150% รสชาติมิกซ์เบอรี่ และธาตุเหล็ก รสชาติองุ่นเคียวโฮ ยังเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคด้วยการออกผลิตภัณฑ์น้ำดื่มผสมวิตามิน หรือวิตามินวอเตอร์ ผสมวิตามินบีรวม และวิตามินซี ที่ปราศจากน้ำตาลและโซเดียมโดยปี 2561 มีรายได้รวม 1,531.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.77% ทำไรสุทธิ 67.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 164.83%
นับเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างมาก และน่าจะมีแนวโน้มเติบโตจากดีมานด์ที่ตอบโจทย์สุขภาพที่ดี
ที่มา : brandbuffet, vitaminwater, datawarehouse.dbd, positioningmag, bangkokbiznews,
August 31, 2020 at 12:50PM
https://ift.tt/2QGOpXv
ตรวจแถว 'น้ำดื่มผสมวิตามิน' ตลาดเครื่องดื่มมาแรง รับเทรนด์สุขภาพ - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/3cAAHOs
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ตรวจแถว 'น้ำดื่มผสมวิตามิน' ตลาดเครื่องดื่มมาแรง รับเทรนด์สุขภาพ - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment